แม้นายกฯ จะย้ำว่าราคาสินค้าอาหารไม่ได้แพงผิดปกติ แต่เสียงสะท้อนหรือโพลที่สำรวจประชาชน ต่างยืนยันสวนทางชัดเจน ดังนั้นในสภาวะที่บ้านเมือง เกิดปัญหาข้าวยากหมากแผง ไม่ว่าจะยุคใดสมัยไหน? สิ่งที่ตามมาคือปัญหาการโจรกรรม และรถยนต์ที่ปกติถือเป็นเป้าหมายอยู่แล้ว ช่วงเวลานี้ผู้เป็นเจ้าของรถยิ่งต้องระมัดระวังมากกว่าเดิม ดังนั้นการรู้จักเป้าหมายและนิสัยของโจร ทั้งเรื่องของยี่ห้อ-รุ่นรถยอดนิยม หรือแม้แต่พื้นที่ ตลอดจนช่วงเวลาทองของนักโจรกรรมเหล่านี้ อย่างน้อยก็พอช่วยให้เจ้าของรถเตรียมรับมือได้มากขึ้น โดยเฉพาะเวลากลางวันหรือหัวค่ำที่คิดว่าปลอดภัย!
|
|
สถิติการโจรกรรมรถ 10 อันดับแรก ตามพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2547- ปัจจุบัน |
|
|
จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าสถิติรถยนต์รับแจ้งหายทั่วประเทศ ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 1,720 คดี แต่จับได้เพียง 259 ขณะที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ตุลาคม 2554 - มีนาคม 2555 มีสถิติรับแจ้งรถหายมากถึง 892 คดี จับได้เพียง 131 ส่วนรถจักรยานยนต์แจ้งหายในปี 2554 จำนวน 12,775 ดคี จับได้ 2,713 และในปี 6 เดือนที่ผ่านมา รับแจ้งหาย 6,476 คดี จับได้ 1,249 คลิกอ่านสถิติคดีอาญา ทั้งนี้ในส่วนของกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นขุมทองของบรรดาแก๊งลักรถ หรือเหล่านักโจรกรรมทั้งหลาย มีรายงานจากศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปจร.น.) จะพบว่าพื้นที่ยอดนิยมของแก๊งลักรถ หรือเหล่านักโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เขตบางกะปิจะเป็นขุมทรัพย์อันดับหนึ่ง ตามมาด้วยดินแดง และจตุจักร
|
ขณะที่สถิติการโจรกรรมรถยนต์ในเขตนครบาล พบว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2554 ที่ผ่านมา มีการโจรกรรมรถยนต์ 502 คัน โดยยี่ห้อ “โตโยต้า” ได้รับความนิยมจากนักโจรกรรมมากที่สุด 156 คัน ตามมาด้วยอีซูซุ 150 คัน และนิสสัน 53 คัน ซึ่งแยกเป็นปิกอัพที่ถูกโจรกรรมมากจะเป็น โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้, อีซูซุ ดีแมคซ์ และนิสสัน ฟรอนเทียร์ โดยเฉพาะรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ส่วนใหญ่จะเป็นโตโยต้า วีออส และยาริส ส่วนสถิติการโจรกรรมรถยนต์ในเขตนครบาล ช่วงเดือนตุลาคม 2554 - กุมภาพันธ์ 2555 พบว่า รถยนต์หาย 134 คน เป็นยี่ห้ออีซูซุมากที่สุด โดยเฉพาะปิกอัพรุ่นดีแมคซ์มากถึง 50 คัน, โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ 34 คัน และรุ่นไทรทัน 11 คัน ขณะที่รถยนต์นั่ง หรือเก๋ง มากที่สุดยังคงเป็นโตโยต้า วีออส-ยาริส ขณะที่ฮอนด้ามีรถหาย 9 คัน
|
สำหรับสถิติการโจรกรรมรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ดูแลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล พบว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2554 มีรถหายไปจำนวน 3,509 คัน มากที่สุดเป็นยี่ห้อ “ฮอนด้า” จำนวน 2,021 คัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นเวฟ รองลงมาเป็น “ยามาฮ่า” จำนวน 1,261 คัน หายมากที่สุดเป็นรุ่นฟีโน่ และตามมาด้วย “คาวาซากิ” 71 คัน เป็นรุ่นเคเอสอาร์หายมากสุด และในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา สถิติการโจรกรรมรถจักรยานยนต์ในเขตนครบาล 1,143 คัน ซึ่งยี่ห้อและรุ่นก็ไม่แตกต่างไปจากช่วงก่อนหน้านั้น |
ในส่วนของช่วงเวลาและสถานที่เกิดเหตุ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสถิติย้อนไปตั้งแต่ปี 2553 (ดูภาพประกอบ) จนมาถึงปัจจุบัน แทบจะไม่แตกต่างกันเลย โดยส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลากลางคืน 18.00 -04.00 น. และเป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาเหล่านักโจรกรรม กลับไม่ชอบขโมยรถในช่วงยามวิกาล ซึ่งจากสถิติเลือกเวลาที่คนพลุกพล่านช่วงหัวค่ำถึงกลางดึก ตั้งแต่เวลา 18.00 -24.00 น. ยิ่งในปี 2554 ที่ผ่านมา ถึงกับเลือกช่วงเวลามากที่สุด 16.01 - 20.00 น. และรองลงมา 20.01 - 24.00 น. ขณะที่ในช่วงเวลา 00.01 -04.00 น. กลับน้อยกว่าครึ่ง
|
อย่างไรก็ตาม สถิติช่วงเวลารถยนต์และรถจักรยานยนต์หาย ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งน่าตกใจมากขึ้นไปอีก เพราะบรรดานักโจรกรรม เลื่อนเวลาขโมยรถมาเป็นช่วงเวลากลางวันมากขึ้น โดยช่วงเวลา 12.01-18.00 น. เกิดเหตุมากที่สุด ยิ่งรถจักรยานยนต์เล่นกันตั้งแต่เช้า 06.01-12.00 น. (รองลงมาจากช่วงเที่ยง-หัวค่ำ) กันเลย ขณะที่รถยนต์ช่วงเวลารองลงมาจะเป็น 18.01-24.00 น. ด้านสถานที่เกิดเหตุรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมมากที่สุด จะเป็นที่จอดอยู่ตามถนน-ตรอก-ซอยมากที่สุด รองลงมาจะเป็นสวนสาธารณะและชุมชนต่างๆ จากนั้นจะเป็นเคหะสถาน บ้านเช่า หรือห้องเช่า นอกจากนั้นจะเป็นตามห้างสรรพสินค้า และอู่ซ่อมรถ หรือแม้แต่สถานที่ราชการ
|
จากสถิติการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะเห็นว่าช่วงที่น่าปลอดภัยสุด กลับเป็นช่วงที่เสี่ยงที่สุด ดังนั้นการข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการลักรถดังกล่าว จึงน่าจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของรถระมัดระวังได้มากยิ่งขึ้น…
|